สายพันธุ์กัญชาหลัก และ 4 อัตลักษณ์กัญชาสายพันธุ์ไทย

14471 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สายพันธุ์กัญชาหลัก และ 4 อัตลักษณ์กัญชาสายพันธุ์ไทย

กัญชาเป็นพืชสกุล Cannabis จัดอยู่ในวงศ์ Cannabaceae 
3 สายพันธุ์หลักที่พบบ่อย
ได้แก่ สายพันธุ์ซาติวา (Cannabis sativa)/ สายพันธุ์อินดิกา (Cannabis indica)/ สายพันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis ruderalis)
 
 
ซาติว่า (Sativa)

ถิ่นกำเนิด พบได้ทั่วไปในสภาพอากาศร้อนและแห้ง มีแสงแดดจัดเป็นเวลานาน มักพบได้ใน แอฟฟริกา อเมริกากลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางส่วนของเอเชียตะวันตก ลักษณะสายพันธุ์ ลำต้นสูงผอม ใบยาวลักษณะใบเหมือนนิ้วมือ สามารถเจริญเติบโตได้สูงกว่า 3-5 เมตร และใช้เวลานานกว่าจะโตเต็มที่เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ อัตราส่วนสารสำคัญ โดยทั่วไปมักจะมีสาร CBD ต่ำ และมี สาร THC สูง การออกฤทธิ์ มักออกฤทธิ์ตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า เพิ่มโฟกัส ช่วยคลายเครียด ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการใช้งาน ควรใช้สายพันธุ์ซาติว่าในช่วงเวลากลางวัน เนื่องจากเป็นการออกฤทธิ์ที่ทำให้ตื่นตัว
 

อินดิก้า (Indica)

ถิ่นกำเนิด พบในอัฟกานิสถาน อินเดีย ปากีสถาน และตุรกี กัญชาสายพันธุ์อินดิก้าได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่แห้งแล้งและปั่นป่วนของภูเขาฮินดูกูช (Hindu Kush Mountains) ลักษณะสายพันธุ์ ลำต้นเตี้ยตัน มีใบลักษณะอ้วนหนาและกว้าง เติบโตได้เร็วกว่ากัญชาสายพันธุ์ซาติว่า อัตราส่วนสารสำคัญ โดยทั่วไปมักจะมีสาร CBD สูง และมี สาร THC ต่ำหรือสูงได้เช่นกัน การออกฤทธิ์ มักออกฤทธิ์ผ่อนคลาย เพิ่มความอยากอาหาร ลดอาการปวดและคลื่นไส้อาเจียน ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการใช้งาน ควรใช้สายพันธุ์อินดิก้าในช่วงเวลากลางคืน เนื่องจากเป็นการออกฤทธิ์ที่ทำให้ผ่อนคลาย
 

รูเดราลิส (Ruderalis)

กัญชาสายพันธุ์รูเดราลิสเป็นกัญชาสายพันธุ์ที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักเนื่องจากไม่เป็นที่นิยมและไม่มีสารมากพอที่จะออกฤทธิ์ใดๆ ถิ่นกำเนิด กัญชาสายพันธุ์รูเดราลิสเกิดจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่โหดร้าย พบในยุโรปตะวันออก บริเวณหิมาลัยของอินเดีย ไซบีเรีย และรัสเซีย ลักษณะสายพันธุ์รูเดราลิสเติบโตอย่างรวดเร็วเหมาะสำหรับสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็นและมีแสงแดดน้อย ลำต้นมักสูงไม่เกิน 12 นิ้ว อัตราส่วนสารสำคัญ โดยทั่วไปมักจะมีสาร CBD สูงกว่าสาร THC แต่มีปริมาณน้อยจึงไม่ออกฤทธิ์ใดๆ นักปลูกมักจะนำสายพันธุ์รูเดราลิสผสมเข้ากับสายพันธุ์อื่นๆเพื่อให้ได้กัญชาที่สามารถเจริญเติบโตได้
อย่างรวดเร็ว
 
 
4 อัตลักษณ์กัญชาสายพันธุ์ไทย 
กัญชา 4 สายพันธุ์ไทยนี้เป็นกัญชาสายพันธุ์ซาติวา (Sativa) จากการศึกษาพบว่า กัญชาสายพันธุ์ไทย นั้นมีลักษณะเด่น 3 แบบ คือ
แบบที่ 1 กัญชาที่ให้สารTHC สูง ได้แก่ พันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1, พันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ 1
แบบที่ 2 ให้สาร THC และ CBD ในสัดส่วนที่เท่ากัน ได้แก่ พันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1 
แบบที่ 3 ให้สาร CBD สูง ได้แก่ พันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1
 
 
แบบที่ 1 กัญชาที่ให้สารTHC สูง ได้แก่ พันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1, พันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ 1
  • พันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1 ...สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้ทำการคัดเลือกต้นพันธุ์ของกัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครจากเมล็ดพันธุ์ที่ได้ โดยการปลูกและคัดเลือกจำนวน 3 รุ่น โดยได้ทำการศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยา (Morphology) ลักษณะทางด้านเคมี (chemical profile) และลักษณะทางด้านพันธุกรรม (genetic profile) เพื่อใช้ในการคัดเลือกพันธุ์กัญชาหางเสือสกลนคร รวมถึงข้อมูลการสำรวจการปลูกกัญชาในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น จากการศึกษาการปลูกทั้งสามรุ่นพบว่าลักษณะทางพันธุกรรมในกลุ่มยีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสาร Tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabidiol (CBD) เช่น Tetrahydrocannabinolic Acid Synthase (THCAS) และ Cannabidiolic Acid Synthase (CBDAS) รวมความยาว 3.2 Megabase พบว่ากัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครที่ได้รับการคัดเลือกนั้นจัดเป็นกัญชา type 1 หรือ chemotype 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีการสร้างสาร THC ที่เด่น นอกจากนี้ได้ทำการศึกษาค่า Heterozygosity ของพันธุ์กัญชาโดยการเปรียบเทียบข้อมูลจากการศึกษากลุ่มยีน THCAS และ CBDAS พบว่าการแปรผันทางพัธุกรรมของกัญชาพันธุ์นี้ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับข้อมูลของกัญชาพันธุ์อื่นๆ ในฐานข้อมูล ดังนั้นรุ่นลูกจะมีการแปรผันทางพันธุกรรมที่ต่ำ และมีโอกาสในการแสดงออกทางด้านเคมีในการสร้างสาร THC คงที่ จากข้อมูลทางพันธุกรรมที่ได้นำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของปริมาณสาร THC และ CBD ทางด้าน Chemotype พบว่าพันธุ์หางเสือสกลนครมีปริมาณสาร ∆9 -THC สูง ซึ่งตรงกับลักษณะของ genotype ที่ได้ทำการศึกษาโดยมีปริมาณสาร ∆9-THC เฉลี่ยที่ 5.03±0.36 %W/W และมี CBD เฉลี่ยที่ 0.01±0.003 %W/W (ตารางที่ 1 และภาพที่ 2)
ตารางที่ 1 และ ภาพที่ 2 แสดงปริมาณค่าของ THC และ CBD ในแต่ละรุ่นการปลูกของกัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครทีที1
 
ตามประวัติพบการกระจายตัวของกัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครพบได้ทั่วไปในประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนครนอกจากจะพบพันธุ์กัญชาหางกระรอกแล้วยังพบการกระจายตัวของกัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครอีกด้วย ลักษณะเด่นของกัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1 นอกจากจะเด่นเรื่องสารสำคัญแล้ว ยังมีช่อดอกและกลิ่นที่เฉพาะตัวอีกด้วย คือ มีช่อดอกที่ยาว เป็นพวงยาวคล้ายหางเสือ มีกลิ่นเฉพาะตัวหอมคล้ายเปลือกส้ม มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย

ภาพที่ 3 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครทีที1 / A ใบประกอบส่วนหลังใบ(ซ้าย) และท้องใบ(ขวา) / B ช่อดอกเพศเมีย / C ลักษณะภายนอกของเมล็ดส่วนด้านข้างและส่วนขั้วผล / D ทรงต้นและช่อดอก
 
แบบที่ 1 กัญชาที่ให้สารTHC สูง ได้แก่ พันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1, พันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ 1
  • พันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ 1 ... จากการศึกษาค่า Heterozygosity ของพันธุ์กัญชาโดยการเปรียบเทียบข้อมูลจากการศึกษากลุ่มยีน THCAS และ CBDAS พบว่าความแปรผันทางพันธุกรรมของกัญชาพันธุ์นี้ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับข้อมูลของกัญชาพันธุ์อื่นๆ ในฐานข้อมูล ดังนั้นรุ่นลูกจะมีความแปรผันทางพันธุกรรมที่ต่ำ และมีโอกาสในการแสดงออกทางด้านเคมีในการสร้างสาร THC คงที่ จากข้อมูลทางพันธุกรรมที่ได้นำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของปริมาณสาร THC และ CBD ทางด้าน Chemotype พบว่าพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวมีการสร้างสารที่ตรงกับ genotype คือมีปริมาณสาร ∆9-THC สูง เฉลี่ยที่ 8.38±0.55 %W/W ส่วนปริมาณสาร CBD เฉลี่ยที่ 0.01±0.003 %W/W (ตารางที่ 2 และภาพที่ 4)

ตารางที่ 2 และ ภาพที่ 4 แสดงปริมาณค่าของ THC และ CBD ในแต่ละรุ่นการปลูกของกัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ 1
 
ตามประวัติพบการแพร่กระจายในแถบเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นแนวต่อเนื่องจากเทือกเขาถนนธงชัย เป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับสหภาพเมียนมาร์ เริ่มตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรีลงไปทางใต้ ผ่านจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร มีความยาวประมาณ 834 กิโลเมตร จากข้อมูลที่ได้จากการสอบถามปราชญ์ชาวบ้าน หรือหมอพื้นบ้านในแถบเทือกเขาตะนาวศรี และเทือกเขาถนนธงชัย ในจังหวัดกาญจนบุรี ตาก และเลยไปถึงทางภาคใต้ของประเทศไทยเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแยกความแตกต่างจากกัญชาพันธุ์หางเสือซึ่งมีลักษณะที่คล้างคลึงกัน จากข้อมูลที่ได้ พบว่าลักษณะเด่นของกัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ 1 นอกจากจะมีค่า THC สูงแล้ว ยังมีลักษณะของช่อดอกและกลิ่นที่เฉพาะตัว คือมีทรงต้นที่พุ่ม ช่อดอกที่กระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง มีช่อดอกจำนวนมาก และมีกลิ่นหอมคล้ายเปลือกส้มผสมกลิ่นตะไคร้ มีกลิ่นฉุนน้อยกว่ากัญชาพันธุ์หางเสือ
 
ภาพที่ 5 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ 1 / A ใบประกอบส่วนหลังใบ(ซ้าย) และท้องใบ(ขวา) / B ช่อดอกเพศเมีย / C ลักษณะภายนอกของเมล็ดส่วนด้านข้างและส่วนขั้วผล / D ทรงต้นและช่อดอก
 

แบบที่ 2 ให้สาร THC และ CBD ในสัดส่วนที่เท่ากัน ได้แก่ พันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1 

  • พันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1 ... จากการศึกษาค่า Heterozygosity ของพันธุ์กัญชาโดยการเปรียบเทียบข้อมูลของกลุ่มยีน THCAS และ CBDAS พบว่าความแปรผันทางพันธุกรรมของกัญชาพันธุ์นี้ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับข้อมูลของกัญชาพันธุ์อื่นๆ ในฐานข้อมูล ดังนั้นรุ่นลูกจะมีความแปรผันทางพันธุกรรมที่ต่ำ และมีโอกาสในการแสดงออกทางด้านเคมีในการสร้างสาร THC และ CBD คงที่ จากข้อมูลทางพันธุกรรมที่ได้ นำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของปริมาณสาร THC และ CBD ทางด้าน Chemotype พบว่าพันธุ์ หางกระรอกภูพาน มีปริมาณสาร THC:CBD ที่ ใกล้เคียงกัน ซึ่งตรงกับข้อมูลของ genotype โดยมีปริมาณสาร ∆ 9-THC เฉลี่ยที่ 6.06±0.43 %W/W และ CBD เฉลี่ยที่ 6.54±0.28 %W/W หรือ THC:CBD เท่ากับ 1:1 (ตารางที่ 3 และภาพที่ 6) 
ตารางที่ 3 และ ภาพที่ 6 แสดงปริมาณค่าของ THC และ CBD ในแต่ละรุ่นการปลูกของกัญชาพันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1

 

ตามประวัติพบการกระจายตัวของกัญชาพันธุ์ หางกระรอกภูพานบริเวณแถบเทือกเขาภูพานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสกลนครและจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดสกลนครซึ่งมี การกล่าวถึงกัญชาพันธุ์นี้กันอย่างแพร่หลาย จากข้อมูลที่ได้ พบว่าลักษณะเด่นของกัญชาพันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที1 นั้นมีลักษณะของช่อดอกและกลิ่นที่เฉพาะตัว คือ มีช่อดอกใหญ่เป็นพวงคล้ายหางกระรอก และมีกลิ่นหอมคล้ายมะม่วงสุก ไม่มีกลิ่นฉุน 

 ภาพที่ 7 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกัญชาพันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที1  A ใบประกอบส่วนหลังใบ(ซ้าย) และท้องใบ(ขวา) / B ช่อดอกเพศเมีย / C ลักษณะภายนอกของเมล็ดส่วนด้านข้างและส่วนขั้วผล / D ทรงต้นและช่อดอก
 
 แบบที่ 3 ให้สาร CBD สูง ได้แก่ พันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1 
  •  พันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1 ... จากการศึกษาค่า Heterozygosity ของพันธุ์กัญชาโดยการเปรียบเทียบข้อมูลจากการศึกษากลุ่มยีน THCAS และ CBDAS พบว่าความแปรผันทางพันธุกรรมของกัญชาพันธุ์นี้ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับข้อมูลของกัญชาพันธุ์อื่นๆ ในฐานข้อมูล ดังนั้นรุ่นลูกจะมีความแปรผันทางพันธุกรรมที่ต่ำ และมีโอกาสในการแสดงออกทางด้านเคมีในการสร้างสาร CBD คงที่ จากข้อมูลทางพันธุกรรมที่ได้นำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของปริมาณสาร THC และ CBD ทางด้าน Chemotype พบว่าพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงมีปริมาณสาร CBD สูงซึ่งตรงกับข้อมูลทางด้าน genotype โดยมีปริมาณสาร CBD เฉลี่ยที่ 5.33±0.28 %W/W และค่า ∆9-THC เฉลี่ยที่ 0.26±0.07 %W/W (ตารางที่ 4 และภาพที่ 8) 
 ตารางที่ 4 และ ภาพที่ 8 แสดงปริมาณค่าของ THC และ CBD ในแต่ละรุ่นการปลูกของกัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1
 
ตามประวัติพบการแพร่กระจายแถบเทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาถนนธงชัย นอกจากนี้ยังพบการกระจายตัวของพันธุ์นี้ลงไปแถวภาคใต้ของประเทศไทย เช่น แถบจังหวัดนครศรีธรรมราช และตรัง เช่นเดียวกับพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาว ลักษณะเด่นของกัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดง คือ มีช่อดอกที่กระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง มีช่อดอกจำนวนมากเช่นเดียวกับสายพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาว แต่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างคือมีสีแดงที่กิ่ง ก้าน และก้านใบ มีกลิ่นที่หอมหวานคล้ายกลิ่นผลไม้สุก ไม่มีกลิ่นฉุน
 
ภาพที่ 9 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1 A ใบประกอบส่วนหลังใบ / Bใบประกอบส่วนท้องใบ / C เส้นกลางใบและเส้นใบย่อย / D ก้านใบ / E ช่อดอกเพศเมีย / F ลักษณะภายนอกของเมล็ดส่วนด้านข้างและส่วนขั้วผล / G ทรงต้นและช่อดอก

                 และทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นสำหรับกัญชาสายพันธุ์ไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ยังมีกัญชาสายพันธุ์ไทยอื่นๆที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอีกหลากหลายสายพันธุ์  อย่างไรก็ตาม หากผู้อ่านต้องการรักษาด้วยกัญชาควรศึกษาเรื่องสายพันธุ์กัญชาด้วยนะคะ หรือปรึกษาคลินิกกัญชาได้ทั่วประเทศ เพราะแต่ละสายพันธุ์มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ซึ่งสรรพคุณก็แตกต่างไปด้วยเช่นกัน ส่วนบทความต่อไปจะเป็นเรื่องอะไรนั้น ติดตามได้ทางเว็ปไซด์ไทรทองเราได้เลยค่า ^^
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้